ผักพ่นพิษเบื้องหลังไร่พริก...ทาสยาฆ่าแมลง : ทีมข่าวรายงานพิเศษ
ที่มา: http://www.komchadluek.net/news/detail/227271
ประเทศไทยมีความพยายามจะประกาศเป็น “ครัวโลก” แต่สภาพตอนนี้ดูเหมือนกลับกลายเป็น “ครัวโรค” เพราะอะไร? มาตรการแก้ไขจะทำได้หรือไม่? โดยเฉพาะเมื่อต้องอยู่ในวงจร “เกษตรพันธสัญญา” ที่ชาวไร่ชาวนากลายเป็นทาสสัญญาไม่เป็นธรรม
ย้อนไปเกือบสิบปีที่แล้ว คนไทยไม่รู้เลยว่าตัวเองกำลังตายผ่อนส่งด้วยการกินพิษร้ายจากสารเคมีที่ใช้ในแปลงเกษตรทั่วไป โดยเฉพาะผักและผลไม้หลักฐาน มาถูกเปิดเผยเมื่อ “อียู” (สหภาพยุโรป) ซึ่งมีระบบตรวจสอบสารพิษในอาหารที่นำเข้าประเทศ (Rapid Alert System for Food: RASFF) เมื่อปี 2553 หลังสุ่มตรวจผักผลไม้นำเข้าจากไทยพบว่า มีสารเคมีและแมลงศัตรูพืชตกค้างอันดับหนึ่ง
อียูส่งข้อมูลตรงกลับมาที่รัฐบาลไทยพร้อมประกาศห้ามนำเข้าชั่วคราวทันที โดยเฉพาะผักตระกูลถั่ว ตระกูลมะเขือ กะหล่ำ พริก กะเพรา เนื่องจากตกใจที่ตรวจพบยาฆ่าแมลงอันตรายกว่า 20 ชนิดที่ทั่วโลกห้ามใช้เด็ดขาด เช่น คาร์โบฟูราน (Carbofuran), เมโทมิล (Methomyl) ฯลฯ
ผ่านไปหลายปี “อียู” ยังคงตรวจอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรจากไทยแลนด์จะถูกนำมาตรวจเกือบทั้งหมด โดยไม่สุ่มตรวจเหมือนที่ผ่านมา เนื่องจากงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า สารเคมีพิษที่ตกค้างในอาหารเป็นพิษร้ายอันตรายสะสมในร่างกายก่อให้เกิดมะเร็ง โรคระบบทางเดินหายใจ ภูมิแพ้ หรือมีอาการทางจิตประสาท
เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ ไทยแพน (Thai-PAN : ThailandPesticide Alert Network) เริ่มสุ่มตรวจในประเทศอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2555 ทำให้เจอข้อมูลสะเทือนขวัญผู้บริโภคว่า กว่าร้อยละ 60-70 ของผักผลไม้ยอดนิยมที่คนไทยชอบกินนั้น มียาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าโรคพืช และสารเคมีร้ายแรงที่ห้ามใช้ทั่วโลกหลายชนิด
เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคพยายามออกมาผลักดันให้กระทรวงเกษตรฯจัดการปัญหานี้อย่างจริงจัง ดูเหมือนสถานการณ์จะดีขึ้นในพืชผักบางประเภท แต่ตัวเลขล่าสุดของปี 2559 ก็ยังน่าตกใจ เพราะพบสารพิษตกค้างถึง 66 ชนิด รวมถึงที่อียูหวาดผวา 2 ชนิด ได้แก่ “คาร์โบฟูราน” พบตกค้างในพริก และ “เมโทมิล” ในฝรั่ง
4 พฤษภาคม 2559 “ไทยแพน” จัดแถลงข่าวเปิดเผยตัวเลขหลังจากเก็บตัวอย่างผัก 10 ชนิด ผลไม้ 6 ชนิด รวม 138 ตัวอย่าง ได้แก่ กะหล่ำปลี แตงกวา ผักบุ้งจีน มะเขือเทศ ผักกาดขาวปลี คะน้า ถั่วฝักยาว มะเขือเปราะ กะเพรา และพริกแดง และชนิดผลไม้ 6 ชนิด ได้แก่ แตงโม มะม่วงน้าดอกไม้ มะละกอ แก้วมังกร ฝรั่ง และส้มสายน้าผึ้ง สินค้าสุ่มซื้อมาจากตลาดสดและซุปเปอร์มาร์เก็ตชื่อดัง 7 แห่ง เขตกรุงเทพฯ เชียงใหม่ และ อุบลราชธานี ระหว่าง 16-18 มี.ค. 2559 ตัวอย่างทั้งหมดส่งไปตรวจวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการใน “อังกฤษ” เนื่องจากวิเคราะห์สารพิษตกค้างได้ถึง 450 ชนิด
ผลการตรวจสารพิษตกค้างอันดับ 1 คือ “พริกแดง” พบทั้งหมด 100 %เปอร์เซ็นต์ ของตัวอย่าง อันดับ 2 กะเพราและถั่วฝักยาว พบ 66.67% อันดับ 3 คะน้า 55.56% ส่วนผลไม้นั้น อันดับ 1 คือ ส้มสายน้าผึ้ง และฝรั่ง พบ 100 % รองลงมาเป็นแก้วมังกร มะละกอ มะม่วงน้าดอกไม้ ซึ่งพบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 71.4 %
และที่สร้างความเจ็บปวดให้ผู้บริโภคมากสุด คือ พบว่าผักและผลไม้ “ปลอดสารพิษ” ที่ได้รับตราคิว “Q” หรือได้รับการรับรองจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กลายเป็นว่ามีสารเคมีมากสุด และสูงถึง 57.1% ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มผักผลไม้ “ไร้สารพิษ” หรือพวกออร์แกนิคไทยแลนด์(Organic Thailand) ซึ่งหมายถึงไม่มีการใช้สารเคมีในแปลงที่ปลูก พบสารพิษตกค้างสูงเกินมาตรฐานถึง 25% หรือ 1 ใน 4 ของจำนวนตัวอย่าง
ราคาของพืชผักไร้สารพิษ ปลอดสารพิษจะแพงกว่าธรรมดา 2 -3 เท่า เช่น คะน้าขายในตลาดสด 30-50 บาท เพิ่มเป็น 150-250 บาท พริกในตลาดแพ็คละ 20-30 บาท หากเป็นปลอดสารพิษพุ่งสูงถึง 200-300 บาท
“ปรกชล อู๋ทรัพย์” ผู้ประสานงานเครือข่าย ฯ อธิบายว่า ผักคิวคือผักปลอดสารพิษหมายถึงผักที่ใช้สารเคมีบ้างแต่การเก็บเกี่ยวจะระวังไม่ให้มีการตกค้างหลงเหลือมาถึงผู้บริโภค ส่วนผักไร้สารพิษนั้น คือแปลงผักต้องไม่ใช้สารเคมีเลย การสำรวจครั้งนี้ทำให้รู้ว่าผู้บริโภคเหมือนถูกหลอกให้จ่ายแพงกว่า แต่เสี่ยงได้รับพิษเหมือนกัน โดยเฉพาะผักไร้สารพิษที่พบร้อยละ 25 ถือว่าสูงมาก เพราะหลักการแล้วไม่ควรตรวจพบเลย พร้อมกล่าวแนะนำว่า
“ตอนนี้มี 3 มาตรการสำคัญที่จะต้องเร่งทำคือ ส่งข้อมูลให้กระทรวงเกษตรลงไปตรวจสอบว่า เจ้าของสินค้าทำผิดขั้นตอนส่วนไหน หรือ เป็นการแอบอ้าง และจากนี้ไปหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องช่วยกันตรวจสอบผักผลไม้ทั้งไร้สารและธรรมดาว่า กลุ่มที่มีสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐานมาจากไร่สวนบริเวณใด 2 ซุปเปอร์มาร์เก็ตและห้างที่วางขายต้องช่วยกันรับผิดชอบคุณภาพสินค้าเกษตร เพราะเป็นตัวกลางที่ได้ผลกำไร ต้องสร้างระบบดูแลคุณภาพของตัวเอง สร้างความมั่นใจให้ผู้ซื้อ และ 3 ผู้บริโภคต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา สร้างเครือข่ายกดดันให้มีการผลิตและวางขายเฉพาะสินค้างเกษตรที่ปลอดภัย”
คำถามที่ยังค้างคาใจคือ ทำไม “พริก” จึงกลายเป็นผักที่มีสารพิษตกค้างมากสุดถึง 23 ชนิด และพบตัวอย่างที่เก็บมาตรวจ ?
ตัวแทนจาก “คณะทำงานติดตามผลกระทบเกษตรพันธสัญญา” เปิดเผยเบื้องหลังฟาร์มพริกให้ฟังว่า ปัจจุบันการปลูกพริกเพื่อจำหน่ายนั้น ตกอยู่ในวงจรอุบาทว์ของกลุ่มนายทุนขายเมล็ดพันธุ์พืช โดยเริ่มจากชักชวนเกษตรกรกลุ่มแรกมาสมัครสมาชิกหรือแปลงเกษตรพันธสัญญา เพื่อเพาะเมล็ดพันธุ์พริกขายให้แปลงผักทั่วไป ฟาร์มพริกนี้จะต้องรับชนิดพันธุ์ที่ตกลงในสัญญาเท่านั้น และต้องซื้อและต้องใช้ ยาฆ่าหญ้า ยาฆาแมลง ยาฆ่าโรคพืช สารกำจัดวัชพืช ฯลฯ ตามที่ตกลงกันไว้เพื่อให้ได้เมล็ดแม่พันธุ์ที่อวบอิ่ม สวยงาม สีแดงเขียวสดใส จากนั้นนายทุนจะซื้อเมล็ดไปขายให้ชาวไร่ทั่วไปที่ปลูกพริกขาย และทำสัญญาคล้ายคล้ายคลึงกัน เพื่อให้ใช้สารเคมีจำนวนมาก เพราะกำไรที่นายทุนได้มาจากส่วนนี้เป็นหลัก
“ พริกทั่วไปถ้าไม่ใช้ยาฆ่าแมลงจะไม่ค่อยอวบสวย และต้นพริกโดยธรรมชาติติดโรคและตายง่าย ทำให้ต้องกระหน่ำใส่ยาต่าง ๆ เต็มที่ สารพิษเหล่านี้เข้าไปอยู่ในเนื้อเยื่อของพริก เพราะสะสมตั้งแต่ในเมล็ดพันธุ์ ไม่สามารถล้างออกได้ คนกินจึงได้รับอันตรายสุด สุ่มตรวจเท่าไรก็เจอ รัฐบาลต้องเริ่มเอาจริงในการจัดการกับระบบเกษตรพันธสัญญาที่หลอกล่อให้ชาวไร่ชาวนากู้ยืมจากนายทุน สุดท้ายไม่มีเงินคืนก็กลายเป็นหนี้สิน ต้องทำตามที่เขาบอกทุกอย่าง ให้ใช้สารเคมีอะไรก็ใช้ นายทุนไม่สนใจว่ามีสารพิษตกค้างไปทำอันตรายคนกินแค่ไหน”
ตัวแทนจากข้างต้น ยอมรับว่า ที่ผ่านมาเครือข่ายเกษตรกรทางเลือกฯ พยายามผลักดัน “ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการคุ้มครองเกษตรพันธสัญญา”เพื่อช่วยดูแลไม่ให้ชาวไร่ชาวนาตกเป็นทาสนายทุน โดยเนื้อหาสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้คือ
1. ห้ามทำสัญญา “ได้เปรียบ” อีกฝ่ายหนึ่ง 2. ห้ามส่งไม่ให้ขาย “พันธุ์พืช-สัตว์” “อาหาร” “ยา” และ“ปัจจัยผลิต” ที่ไม่มีคุณภาพให้แก่เกษตรกรหรือคู่สัญญา
3. “ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตร” ต้องจดทะเบียนกับหน่วยงานรัฐ 4. ต้องเปิดเผยข้อมูลสัญญาต่อสาธารณะ 5. รัฐต้องมีมาตรการส่งเสริม “การลงทุน” และ “ภาษีอากร” ให้กับบริษัทหรือเอกชนที่ประกอบธุรกิจด้านการเกษตรพันธสัญญา
6. ทั้งฝ่ายเกษตรกรและบริษัทเอกชนต้องร่วมกันรับผิดชอบหากทำความเสียหายให้สิ่งแวดล้อม 7. แต่งตั้ง “คณะกรรมการระงับข้อพิพาท” ทุกจังหวัด และ 8. เมื่อมีการร้องเรียนต้องพิจารณาระงับข้อพิพาทให้เสร็จสิ้นภายใน 1 เดือน โดยผู้ที่ทำผิดต้องรับโทษจำคุก 2 ปี หรือปรับ 2 แสน-1 ล้านบาท ตามที่กฎหมายกำหนด
ล่าสุด ร่างกม.ข้างต้นอยู่ที่ “สนช.” หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว เพียงแต่ไม่ได้ถูกยกเป็นกฎหมายสำคัญ จึงไม่ได้รีบเร่งพิจารณา !?!
ชาวบ้านได้แต่หวังว่า ตัวเลขสารพิษที่ตกค้างในผัก-ผลไม้ ที่ถูกเปิดเผยออกมานั้น อาจทำให้รัฐบาลเร่งสปีดออกกฎหมายตัวนี้มา และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดการควบคุมดูแล
ก่อนที่คนไทยจะตายผ่อนส่งเพราะกิน “ผักพิษ” “ผลไม้พิษ” ที่สำคัญ คือ มะเร็งหรือโรคร้ายที่เกิดจากสารพิษเหล่านี้ ไม่ได้เกิดเฉพาะกับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เกิดกับทุกคนที่จับจ่ายซื้ออาหารเข้าร่างกายวันละ 3 มื้อ
อย่าปล่อยให้คนไทยทำงานหนักแล้วสุดท้ายเอาเงินไปซื้อสารพิษกิน และอย่าปล่อยให้ชื่อเสียงไทยแลนด์จาก “ครัวโลก” เป็น “ครัวโรค” !
#เสียเงินบาทเพื่อป้องกันดีกว่าเสียเงินพันเพื่อรักษา
#วันนี้คุณทานเอมมูร่าหรือยัง
ครั้งแรกของโลก!
นักวิจัย มช.ค้นพบสารสกัดเมล็ดงายับยั้งมะเร็ง