มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นมะเร็งที่เกิดจากเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซด์ มีการเพิ่มจำนวนและเจริญเติบโตผิดปกติ ทำให้ต่อมน้ำเหลืองโตเร็วมาก
มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มักพบบริเวณต่อมน้ำเหลืองที่คอ รักแร้ และขาหนีบ แบ่งเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ ดังนี้
1. มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดโรคฮ้อดกินส์ และ
2 มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอน-ฮ้อดกินส์
การแบ่งชนิดว่าเป็นชนิดใด ต้องอาศัยการตรวจเซลล์ทางพยาธิวิทยา ด้วยกล้องจุลทรรศน์ มะเร็งทั้งสองชนิดมีลักษณะการดำเนินโรค ความรุนแรง และวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน จากลักษณะและชนิดของเซลล์มะเร็ง สามารถแบ่งออกเป็นเกรดต่ำถึงเกรดสูงตามความรุนแรงของโรค โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในคนไทยพบได้บ่อยเป็นอันดับที่ 8 หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 5 ของผู้ป่วยโรคมะเร็งทั้งหมด
โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮ้อดกิ้นส์ ส่วนมากพบในเด็กและวัยหนุ่มสาว การแพร่กระจายค่อนข้างช้า และมักจะแพร่กระจายไปตามอวัยวะข้างเคียง หากเป็นระยะแรก อาจให้การรักษาได้ทั้งวิธีฉายแสงและเคมีบำบัด สำหรับระยะที่เป็นมาก ก็ต้องใช้วิธีการให้เคมีบำบัดเป็นหลัก ในแต่ละปีมีผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮ้อดกิ้นส์ 62,000 คนทั่วโลก ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้ชายร้อยละ 60 และเป็นผู้หญิงร้อยละ 40 ผู้เสียชีวิตจากมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮ้อดกิ้นส์ประมาณปีละ 25,000 คน
โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอน-ฮ้อดกิ้นส์ มักพบในผู้ใหญ่ ผู้ป่วยโรคเอดส์ และพบในคนไทยมากกว่าชนิดฮ้อดกินส์ แพร่กระจายค่อนข้างเร็ว ดังนั้นจึงต้องใช้เคมีบำบัดเป็นหลักในการรักษาไม่ว่าจะอยู่ในระยะใด และอาจต้องใช้การฉายแสงเข้าช่วยด้วยหากมีก้อนที่ใหญ่มาก ในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอน-ฮ้อดกิ้นส์ 286,000 คนทั่วโลก ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้ชายร้อยละ 58 และเป็นผู้หญิงร้อยละ 42
โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอน-ฮ้อดกิ้นส์ แบ่งออกได้เป็น 30 ชนิดย่อย ถ้าอาศัยการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง อาจแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือชนิดค่อยเป็นค่อยไป มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนี้จะมีอัตราการแบ่งตัวของมะเร็งค่อนข้างช้า ชนิดรุนแรงและลุกลาม จะมีอัตราการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ภายใน 6 เดือน- 2 ปี
การรักษาวิธีมาตราฐาน
รังสีรักษา
เคมีบำบัด
สารชีวภาพ
ติดตามอาการอย่างใกล้ชิด
การรักษาโรคมะเร็งด้วยรังสี เรียกว่า radiation therapy รังสีรักษาเป็นวิธีการรักษาโรคมะเร็ง โดยใช้รังสีเอ็กซ์พลังงานสูง หรือรังสีชนิดอื่นๆ ทำลายเซลล์มะเร็ง หยุดยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ปริมาณรังสีที่ใช้รักษาเพื่อมุ่งหวังให้หายขาด จะใช้ปริมาณ 6000-7500 cGy ทั้งนี้ขึ้นกับตำแหน่ง และขนาดของก้อนมะเร็ง โดยปกติจะฉายรังสีแก่ผู้ป่วยวันละ 180-200 cGy โดยฉาย 5 วันต่อสัปดาห์ ใช้เวลาทั้งสิ้น 6-8 อาทิตย์ ปัจจุบัน นิยมใช้ทั้งวิธีรังสีรักษาชนิดภายนอก และวิธีรังสีรักษาชนิดภายใน
รังสีรักษาชนิดภายนอกใช้เครื่องมือซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดรังสีชนิดที่อยู่ภายนอกร่างกาย ทำการฉายรังสีไปยังเซลล์มะเร็งในส่วนต่างๆ ของร่างกาย เครื่องฉายรังสี Cobalt-60 หรือ linear accelerators ที่มีพลังงาน 4-10 MV เครื่องฉายรังสีที่มีพลังงานสูงจะทำให้บริเวณใต้ผิวหนังได้รับรังสีน้อย จึงต้องระวังโดยเฉพาะเวลาฉายต่อมน้ำเหลือง ส่วนเครื่องฉายรังสีชนิดลำอิเลคตรอน มีประโยชน์มากในการรักษามะเร็งที่อยู่ตื้นๆ เช่น ต่อมน้ำเหลืองที่คอ ปกติใช้ลำอิเลคตรอนในช่วงพลังงาน 6-20 MeV บางครั้งอาจจะใช้ลำอิเลคตรอนร่วมกับการฉายแสงชนิดเมกะโวลท์ เพื่อให้ได้ก้อนมะเร็งได้รับรังสีสม่ำเสมอและทั่วถึงตามที่ต้องการ
ส่วนวิธีรังสีรักษาชนิดภายในเป็นการใช้สารกัมมันตภาพรังสี ซึ่งอาจจะเป็นในรูปแบบของสอดไว้ในเข็ม ผลิตเป็นเม็ด ขดลวด หรือสายสวน แล้วฝังไว้ในก้อนมะเร็ง หรือฝังไว้ตำแหน่งที่ใกล้เคียง การใช้สารกัมมันตรังสีมีประโยชน์อย่างมากในการรักษามะเร็งเฉพาะที่ ทำให้บริเวณนั้นได้รับปริมาณรังสีสูง และอวัยวะใกล้เคียงได้ปริมาณรังสีต่ำ สารกัมมันตรังสีที่ใช้ เช่น Radium-226 หรือ Iridium-192 เป็นต้น
การที่จะเลือกใช้วิธีใด แพทย์จะพิจารณาจากชนิดของมะเร็งและระยะของโรค สำหรับการวางขอบเขตบริเวณที่จะฉายรังสีด้วยเครื่องฉายรังสีจำลองก่อนผู้ป่วยจะได้รับการฉายรังสีจริง จะต้องวางขอบเขตที่จะรับการฉายรังสีก่อน ควรจะใช้เครื่องฉายรังสีจำลองช่วย เพื่อให้มีความแม่นยำและขีดแนวเลเซอร์ทั้งด้านบนและด้านข้าง ไม่ให้ลบเลือน เพื่อให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าเดิมตลอดเวลาการฉายรังสี
การรักษาด้วยเคมีบำบัด เรียกว่า chemotherapy การใช้ยาเคมีบำบัดเป็นการรักษาหลักอย่างหนึ่งของโรคมะเร็ง โดยมีวิธีการใช้ที่แตกต่างกันตามชนิดของโรคและข้อบ่งชี้ ยาเคมีบำบัดแต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน แม้แต่ยาในกลุ่มเดียวกัน ก็มีการศึกษาและวิธีการใช้ที่แตกต่างกัน ดังนั้น การใช้ยาเคมีบำบัดจึงควรจะมีความรู้ทางด้านยาโดยละเอียด
วิธีการให้ยาเคมีบำบัดแบ่งเป็น 2 วิธี ได้แก่ ยาเคมีบำบัดชนิดรับประทาน และยาเคมีบำบัดชนิดฉีดเข้าเส้นเลือด
สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอน-ฮ้อดกิ้นส์บางราย อาจจำเป็นต้องได้รับเคมีบำบัด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเซลลมะเร็งเข้าไปในระบบประสาท
ระยะเวลาของการให้ยาเคมีบำบัด ขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของโรคมะเร็งที่ผู้ป่วยเป็นรวมทั้งผลการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วยแต่ละราย โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้วิเคราะห์แนะนำและกำหนดเวลา ตลอดจนเลือกยาที่ได้ผลดีที่สุดต่อผู้ป่วย
ความถี่ของการให้ยาเคมีบำบัดแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสูตรยาที่ใช้และสภาพร่างกายของผู้ป่วย เช่น ทุกวัน ทุกสัปดาห์ หรือทุกเดือน บางครั้งอาจต้องหยุดยาชั่วคราว เพื่อให้ร่างกายมีเวลาพักและซ่อมแซมเซลล์ปกติให้แข็งแรงพอที่จะให้ยาครั้งต่อไปได้
ผู้ป่วยบางรายอาจท้อแท้ เนื่องจากระยะเวลาอันยาวนานของการรักษา ถ้าหากมีความกังวลใจ ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแล แพทย์อาจปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแผนการรักษาให้เหมาะสมขึ้น
ควรติดตามผลการรักษาเป็นระยะ โดยมาตรวจตรงตามแพทย์นัด ให้ยาตรงตามแผนการรักษา การได้ยาไม่ครบหรือระยะเวลาไม่ตรงกำหนด จะก่อให้เกิดผลเสียต่อการรักษา ถ้ามีเหตุจำเป็นที่จะต้องเลื่อนระยะเวลาการให้ยาควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อนทุกครั้ง
การรักษาด้วยสารชีวภาพ โดยทั่วไปนิยมเรียกว่า biologic therapy บางครั้งอาจมีผู้เรียกชื่ออื่นๆ ได้แก่ biotherapy และ immunotherapy ปัจจุบันได้รับการนำมาใช้มากขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างเช่น Rituximab (Rituxan), Rituximab (Mabthera), Ibritumomab (Zevalin), Tositumomab (Bexxar), Epratuzumab (Lymphocide), Alemtuzumab (MabCampath) การรักษาด้วยสารชีวภาพเป็นวิธีการรักษาที่ใช้หลักการกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกายของผู้ป่วยกำจัดหรือทำลายเซลล์มะเร็ง
สารชีวภาพที่นำมาใช้อาจเป็นสารที่สร้างขึ้นในร่างกาย หรือเป็นสารที่สังเคราะห์ขึ้นในห้องปฏิบัติการ โดยสารชีวภาพออกฤทธิ์กระตุ้นและส่งเสริมให้ระบบภูมิคุ้มกันโดยธรรมชาติ ต่อสู้กับเซลล์มะเร็ง การรักษาด้วยสารชีวภาพวิธีหนึ่งที่นิยมนำมาใช้รักษาโรคมะเร็ง เรียกว่า การรักษาด้วยแอนติบอดีชนิดโมโนโคลน (monoclonal antibody therapy) ซึ่งปัจจุบันได้นำมาใช้รักษาโรคมะเร็งตอมน้ำเหลืองชนิดนอน-ฮ้อดกิน โดยเป็นแอนติบอดีชนิดที่สังเคราะห์ในห้องปฏิบัติการจากเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันชนิดหนึ่ง
แอนติบอดีชนิดโมโนโคลน มีความสามารถพิเศษในการจับกับเซลล์มะเร็ง หรือจับกับโปรตีนบางชนิดที่ช่วยในการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ทำให้สามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้ ช่วยหยุดยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง แอนติบอดีชนิดโมโนโคลนอยู่ในรูปแบบยาหยดเข้าสู่ร่างกายทางหลอดเลือด อาจใช้โดยลำพัง หรือนำมาผสมกับสารอื่นๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำลายเซลล์ ได้แก่ ยาบางชนิด สารพิษบางชนิด รวมทั้งสารกัมมันตรังสี แอนติบอดีชนิดโมโนโคลนที่นำมารวมกับสารกัมมันตรังสี เรียกว่า แอนติบอดีชนิดโมโนโคลนปิดฉลากสารเรืองแสง ติดตามอาการอย่างใกล้ชิด
วิธีติดตามอาการอย่างใกล้ชิด เรียกว่า watchful waiting
ถือเป็นวิธีมาตราฐานในการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอน-ฮ้อดกิ้นส์ เนื่องจากโรคนี้มีความหลากหลายของการดำเนินโรคค่อนข้างมาก การติดตามอาการอย่างใกล้ชิดจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
การรักษาวิธีใหม่
วัคซีน
การรักษาโรคมะเร็งด้วยวัคซีนเรียกว่า vaccine therapy ถือว่าเป็นแนวทางการรักษาวิธีใหม่ โดยใช้หลักทางชีวภาพกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ทำลายเซลล์มะเร็ง
เคมีบำบัด
เคมีบำบัดขนาดสูงร่วมกับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด
การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดขนาดสูง ร่วมกับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด เรียกว่า high-dose chemotherapy with stem cell transplant
หลักการของวิธีนี้ เป็นการทดแทนเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในร่างกายผู้ป่วยหลังจากได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด เซลล์ต้นกำเนิดที่นำมาใช้อาจเป็นชนิดเซลล์ของผู้ป่วยเอง หรือเซลล์ต้นกำเนิดจากผู้บริจาค ถ้าเป็นเซลล์ของผู้ป่วยเอง สามารถเก็บได้จากเลือดหรือไขกระดูก แล้วนำมาแช่แข็งเก็บไว้
ภายหลังการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดขนาดสูง จึงนำเซลล์ต้นกำเนิดที่เก็บไว้มาให้ผู้ป่วยด้วยวิธีหยดเข้าทางหลอดเลือด เซลล์ต้นกำเนิดที่ให้กลับเข้าไปในร่างกายผู้ป่วย สามารถเจริญเติบโตและทำหน้าที่สร้างเม็ดเลือดได้อย่างดี ช่วยให้ผลการรักษาประสบความสำเร็จมากขึ้น
การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดขนาดสูง ร่วมกับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด ยังไม่ถือเป็นวิธีมาตราฐานในการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอน-ฮ้อดกิน จัดเป็นแนวทางการรักษาใหม่วิธีหนึ่งที่ผลการศึกษาวิจัยออกมาค่อนข้างดี
ทางเลือกวิธีรักษาโรคระยะที่หนึ่งและสองชนิดไม่รุนแรง
-> ฉายแสงไปยังตำแหน่งของก้อนมะเร็งโดยตรง
-> ติดตามอาการอย่างใกล้ชิด
-> ฉายแสงไปยังตำแหน่งของก้อนมะเร็งและต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง
-> เคมีบำบัดร่วมกับการฉายแสง
ทางเลือกวิธีรักษาโรคระยะที่หนึ่งและสองชนิดลุกลาม
-> เคมีบำบัดมากกว่าหนึ่งขนาน ร่วมกับรังสีรักษาที่บริเวณก้อนมะเร็ง
-> การรักษาด้วยแอนติบอดีชนิดโมโนโคลน ร่วมกับเคมีบำบัดมากกว่าหนึ่งขนานและสเตียรอยด์
->รังสีรักษาหากมีข้อบ่งชี้พิเศษ
ทางเลือกวิธีรักษาโรคระยะที่สอง สาม และสี่ ชนิดไม่รุนแรง
-> ติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด
-> เคมีบำบัดร่วมกับสเตียรอยด์ หรือเคมีบำบัดอย่างเดียว
-> เคมีบำบัดมากกว่าหนึ่งขนาน ร่วมกับสเตียรอยด์
การรักษาด้วยแอนติบอดีชนิดโมโนโคลน ร่วมกับเคมีบำบัดมากกว่าหนึ่งขนาน หรือแอนติบอดี้ชนิดโมโนโคลนอย่างเดียว
-> แอนติบอดีชนิดโมโนโคลนปิดฉลากสารเรืองแสง
-> รังสีรักษาที่บริเวณก้อนมะเร็งและต่อมน้ำเหลืองข้างเคียงสำหรับโรคระยะที่สาม
-> เคมีบำบัดร่วมกับการฉายแสงทั้งตัว หรือแอนติบอดีชนิดโมโนโคลนปิดฉลากสารเรืองแสง ตามด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด
-> เคมีบำบัดร่วมกับวัคซีน
-> ทางเลือกวิธีรักษาโรคระยะที่สอง สาม และสี่ ชนิดลุกลาม
-> เคมีบำบัดมากกว่าหนึ่งขนาน
-> เคมีบำบัดมากกว่าหนึ่งขนาน ร่วมกับรังสีรักษา หรือแอนติบอดีชนิดโมโนโคลน
-> เคมีบำบัดมากกว่าหนึ่งขนาน ร่วมกับรังสีรักษาป้องกันการแพร่กระจายไปที่ระบบประสาท
-> การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดในกรณีที่มีโอกาสที่โรคกลับเป็นซ้ำ
ที่มา : ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ