ความรู้เรื่องโรคข้ออักเสบ รูมาตอยด์

โรครูมาตอยด์

โรคข้ออักเสบ รูมาตอยด์ เป็นโรคที่ข้อต่างๆ ของร่างกายเกิดการอักเสบปวดบวมขึ้นมา มีการอักเสบขึ้นในเนื้อเยื่อที่บุอยู่ในข้อ รูมาตอยด์เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่งซึ่งในปัจจุบันยังไม่ทราบต้นเหตุที่แท้จริงของโรค แต่พบว่ามีส่วนที่เกิดจากความผิดปกติของพันธุกรรม ซึ่งไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้เกิดการทำงานผิดปกติเกิดการต่อต้านเนื้อเยื่อของตนเองจนเกิดอาการปวดข้อ

ข้อแตกต่างจากการปวดธรรมดาก็คือ ในโรคนี้ การอักเสบนั้นเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ดังนั้นหากปล่อยให้โรคดำเนินต่อไปเรื่อยๆโดยที่ไม่ได้จัดการกับสาเหตุ เนื้อเยื่อของข้อนั้นๆจะเกิดการอักเสบและกัดกร่อน ซึ่งนำไปสู่การผิดรูปของอวัยวะ

อาการของผู้ป่วยเป็นรูมาตอยด์ จะมีอาการปวดและบวมที่ข้อ โดยมากจะเริ่มต้นที่ข้อมือและข้อนิ้วมือก่อน ต่อมาอาจลามไปยังข้ออื่นๆ ทั่วร่างกาย เช่น ข้อศอก, ข้อไหล่, ข้อนิ้วเท้า, ข้อเท้า และข้อเข่า เป็นต้น

การรักษาโรครูมาตอยด์ ทำได้ 2 วิธี ดังนี้

1. การรักษาแก้อาการปวดและอักเสบ
2. การรักษาป้องกันไม่ให้ข้อเสื่อมสลายจนพิการ

เมื่อปวด ก็ต้องให้ยาแก้ปวด หมอมักรักษาไปตามอาการ แล้วดูว่ายาแก้ปวด แก้อักเสบจะได้ผลไหม ซึ่งถ้าเป็นข้ออักเสบรูมาตอยด์ก็ให้ยาจำพวกนี้ไปก่อนได้ แต่ถ้าเป็นรูมาตอยด์จริงๆ พอหมดฤทธิ์ยา ก็จะกลับมาปวดใหม่อยู่ดี แพทย์ก็จะค่อยๆ ค้นหาโรคว่าตกลงแล้ว ปวดข้อจากสาเหตุอะไรกันแน่

ยากลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มที่มีชื่อเรียกเฉพาะว่า “ดีมาร์ท” DMARDs เป็นยาหลักที่จะต้องให้ในคนที่เป็นรูมาตอยด์ (ถ้าให้ได้) เพราะการให้ยากลุ่มแรกพวกแก้ปวดอักเสบ ต่อให้ให้ยาจนไม่ปวดเลยก็จะยังมีความพิการอยู่ดี การให้ยาในกลุ่ม DMARDs นี้จะช่วยทำให้โอกาสพิการลดลงได้ค่ะ

บางคนที่ถามว่าแล้วให้ยาไปเลยไม่ได้หรือ “กันไว้ดีกว่าแก้” ก็ต้องบอกว่าไม่ได้ค่ะ เพราะเจ้ายาในกลุ่ม DMARDs นี้เป็นยาที่อยู่ในกลุ่มที่มีพิษต่อเซลล์สูง คล้ายๆ กับพวกเคมีบำบัดหรือการให้คีโมในผู้ป่วยมะเร็ง การให้ไปจะมีผลข้างเคียงได้สูง ซึ่งแพทย์ที่จะให้ก็ต้องชั่งน้ำหนักเอาว่าเหมาะสมหรือไม่ที่จะใช้ จากนั้นเมื่อแพทย์ชั่งน้ำหนักแล้วว่าเหมาะที่จะใช้ ผู้ป่วยเองก็ต้องร่วมตัดสินใจด้วยว่าจะเลือกเอาอะไรระหว่างเสี่ยงจากผลข้างเคียงของยา กับ เสี่ยงจากผลของโรค

แล้วถ้าอย่างนั้นจะทำอย่างไรต่อ สิ่งที่ทำได้ก่อนจะทำการวินิจฉัยโรคนี้มีดังต่อไปนี้

1. อย่าเปลี่ยนหมอหรือโรงพยาบาลบ่อยๆ เพราะว่าส่วนมากแล้วอาการของโรครูมาตอยด์จะไม่ได้มาครั้งเดียวครบหมด แต่มักจะค่อยๆ โผล่มาทีละอย่างสองอย่าง … ผลเลือดบางครั้งเจาะแล้วอาจจะเจอหรือมีผลอยู่ที่โรงพยาบาลนั้นแล้ว ถ้าเปลี่ยนที่รักษาบ่อยๆ ก็เท่ากับว่าต้องไปเริ่มใหม่ โอกาสที่จะวินิจฉัยได้ถูกต้องก็จะน้อยลงไป หากอยากจะเปลี่ยนที่รักษาก็ขอให้แพทย์ที่รักษาเขียนรายละเอียดที่สำคัญลงไป

2. อย่าซื้อยาชุดยาลูกกลอนมากินเอง เพราะยาชุด ยาลูกกลอนในท้องตลาด มากกว่า 50-90% มักผสมสเตียรอยด์ ซึ่งเจ้าสเตียรอยด์นี้จะลดอาการปวดอักเสบได้ดี รวมทั้งกดอาการของโรคข้อรูมาตอยด์ จึงทำให้การวินิจฉัยล่าช้า ที่สำคัญคนที่ได้สเตียรอยด์อย่างเดียว แม้หายปวดแต่ก็จะมีผลแทรกซ้อนมากมายร่วมกับมีความพิการตามมาได้ภายหลัง

3. สังเกตอาการ มีอะไรแปลกๆ บอกหมอทันที เพราะบางครั้งคุณอาจจะยังมีอาการไม่ครบในช่วงแรก แต่ถ้าเวลาผ่านๆ ไปแล้วเกิดอาการมันครบถ้วนขึ้นมาในภายหลัง การไปให้แพทย์ยืนยันก่อนเริ่มการรักษา อีกเหตุผลก็เพราะว่าความน่ากลัวของโรคนี้ยังมีอีก คือ บางครั้งอาการเหมือนๆ รูมาตอยด์ แต่ปรากฎว่าเป็นโรคอื่น เช่น เก๊าท์ ข้อติดเชื้อ หรือโรคทางระบบภูมิคุ้มกัน เช่น SLE ดังนั้น ถ้ามีลักษณะแปลกๆ ก็ควรบอกให้แพทย์ทราบค่ะ

4. ไปตามนัดเรื่อยๆ สม่ำเสมอ การตรวจและการรักษาโรคกลุ่มข้ออักเสบไม่ว่าจะเป็นรูมาตอยด์หรือไม่ก็ตาม การไปตามนัดเป็นสิ่งสำคัญ เพราะว่าการรักษาและการตรวจจะมีขั้นตอนค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป

 

Comments are closed.