โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis) เป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากหลายสาเหตุ เริ่มต้นจากการสูญเสียโครงสร้างที่แข็งแรงของกระดูกอ่อนบริเวณข้อกระดูกที่รับน้ำหนักมาก แล้วส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ รวมทั้งก่อให้เกิดการอักเสบ ซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นให้มีการสร้างเอนไซม์หลายชนิด ที่ทำให้กระดูกอ่อนเสื่อมสลาย กลไกของกระดูกก็จะปรับสมดุลด้วยการสร้างกระดูกใหม่ขี้นมาแทน หรือที่เรียกว่า กระดูกงอก ทำให้เกิดการผิดรูปของกระดูกอย่างเห็นได้ชัดเจนในผู้ป่วยโรคข้อเสื่อม โดยบริเวณที่มีปัญหาข้อเสื่อมได้ง่าย คือบริเวณข้อกระดูกที่รับน้ำหนักมาก เช่น หัวเข่า และ กระดูกสะโพก
อย่างไรก็ตาม บริเวณอื่นก็อาจมีปัญหาข้อเสื่อมได้เช่นกัน อาทิ กระดูกคอ กระดูกบริเวณมดลูก กระดูกเท้า ข้อเท้า นิ้วเท้า และ นิ้วมือ
ส่วนปัจจัยที่ส่งผลต่อการเสื่อมสลายของกระดูกอ่อน ได้แก่ ความอ้วน การออกกำลังกายที่หนักเกินไป การอักเสบหรือบาดเจ็บของข้อกระดูก ขาดวิตามินดี รวมทั้งกรรมพันธุ์
เราอาจพบผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมได้เกือบทุกช่วงวัย ตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป และสูงถึงกว่าร้อยละ 80 ในกลุ่มผู้มีอายุมากกว่า 75 ปี
แม้ว่าโรคข้อเสื่อมอาจจะไม่ทำให้ใครตาย แต่พอเป็นแล้วก็รักษาไม่หาย เว้นแต่จะทำการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ทั้งยังไม่สามารถใช้ได้ถาวร ต้องผ่าตัดเปลี่ยนใหม่เมื่อข้อเทียมหมดอายุใช้งาน นอกจากนี้ผู้ป่วยยังสูญเสียศักยภาพในการทำงาน และมีความยากลำบากในการดำรงชีวิต
จากการสำรวจพบว่าปัจจุบันสหรัฐอเมริกามีผู้ป่วยโรคข้อเสื่อม ข้ออักเสบ ถึง 40 ล้านคน และจะเพิ่มเป็น 60 ล้านคนในอีก 8 ปีข้างหน้า ในจำนวนนี้ 7 ล้านคนต้องตัดขาทิ้งเพราะปัญหาข้อเสื่อม แต่ละคนต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลประมาณ 150,000 – 200,000 บาทต่อปี รวมเป็นงบประมาณด้านสาธาณสุขที่สหรัฐฯ ต้องสูญเสียไปไม่ต่ำกว่า 6 ล้านล้านบาท
ตัวเลขในประเทศไทยก็ไม่น้อยหน้า คือมีผู้ป่วยถึงร้อยละ 11.3 ของจำนวนประชากร หรือราว 6 ล้านคน และมีแนวโน้มทวีขึ้นเรื่อยๆ
ด้วยเหตุนี้ ดร.ปรัชญา คงทวีเลิศ จึงพยายามค้นหาวิธีป้องกันและรักษาโรคข้อเสื่อม เพื่อหยุดยั้งการขยายตัวของปริมาณผู้ป่วย ก่อนที่ประเทศจะเต็มไปด้วยคนพิการ กระดูกอ่อนมันจะเป็นรูปจันทร์เสี้ยว ปกคลุมอยู่ตรงข้อ ถ้าไม่มีกระดูกอ่อน เวลาเรายืนขึ้น น้ำหนักของตัวเราจะทำให้กระดูกขาทั้งสองข้างแตกได้ รวมทั้งกิจกรรมต่างๆในชีวิต เช่นการเดิน วิ่ง กระโดด หรือ ยกของหนัก ล้วนมีน้ำหนักที่กดทับลงสู่ขาของเราเยอะมาก กระดูกอ่อนจึงเป็นอวัยวะสำคัญที่เราพึงระมัดระวัง เพราะถ้ามันเสื่อมสลายไปแล้ว มันซ่อมแซมตัวเองไม่ได้ วิธีการรักษาด้วยยา จะไม่หายขาด ทำได้แค่ระงับอาการหรือเสริมให้มีสภาพดีขึ้นนิดหน่อย ถ้าเสื่อมไปแล้วก็จะไม่สามารถทำให้ดีเหมือนเดิมได้ ต้องเปลี่ยนไปใช้ข้อเทียม ราคาประมาณ สองแสน ถึง ห้าแสนบาท
ดังนั้น ท่านจึงได้ทำการวิจัยและพัฒนาชุดน้ำยาตรวจวินิจฉัยโรคข้อเสื่อม ข้ออักเสบ ขึ้นมาก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถตรวจพบแนวโน้มของโรคข้อเสื่อมในกลุ่มเสี่ยง ก่อนที่การเสื่อมสลายของกระดูกอ่อนจะถึงจุดวิกฤต ทั้งนี้หากอาการยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ก็จะสามารถหาทางรักษาได้ไม่ยาก จัดเป็นการ ป้องกันก่อนที่จะถึงขั้นเจ็บป่วย
จากนั้นท่านจึงมุ่งเน้นคิดค้นพัฒนาตัวยารักษาโรคข้อเสื่อมจากพืชสมุนไพรไทย และก็ประสบความสำเร็จเมื่อพบสารเซซามินในงาดำ การศึกษาในห้องปฏิบัติการ ทำให้ทีมวิจัยของดร.ปรัชญา รู้กลไกการออกฤทธิ์ของสารเซซามินที่สกัดได้จาก งาดำ ซึ่งให้ผลต่อการป้องกันและรักษาโรคข้อเสื่อมได้อย่างดี โดยเซซามิน จะทำหน้าที่ยับยั้งการทำ งานของสารที่เรียกว่า อินเตอร์ลิวติน 1 เบต้า ซึ่งเป็นตัวเร่งและกระตุ้นให้เกิดการทำลายเส้นใยคอลลาเจน และสารชีวโมเลกุลต่างๆ ของเนื้อกระดูกอ่อน ดังนั้น หากผู้จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงได้รับสารเซซามีนจากงาดำในปริมาณที่เพียงพอ ก็จะสามารถป้องกัน หรือ ระงับอาการของโรคข้อเสื่อม และข้ออักเสบได้ ยิ่งกว่านั้น สารเซซามินยังช่วยกระตุ้นให้เซลล์สร้างกระดูก พบว่าคนที่บริโภคงาดำเป็นประจำ นอกจากช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรงแล้ว ยังช่วยเพิ่มมวลกระดูก จึงดีต่อผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนด้วย