วันที่ 21 ธันวาคม 2559 ที่ห้องประชุมชั้น 15 อาคารเฉลิมพระบารมี ภายในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.) ได้แถลงข่าวประมวลผลงานด้านงานวิจัย หนึ่งในงานวิจัยที่โดดเด่นของคณะประจำปี2559 คือ งานวิจัย ′วิจัยงา และรำข้าว 4.0′ ซึ่ง ศ.ดร.ปรัชญา คงทวีเลิศ อาจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ มช. ในฐานะหัวหน้าหน่วยวิจัยที่มีความเป็นเลิศทางด้านวิศวกรรมเนื้อเยื่อ และเซลล์ต้นกำเนิด ได้เปิดเผยว่า ในระยะ 6 ปีที่ผ่านมา ตนได้เล็งเห็นถึงการใช้โภชนบำบัด หรือการรับประทานอาหารให้เป็นยา การใช้อาหารช่วยในการรักษาโรคโดยการดัดแปลงอาหารธรรมดา ให้เป็นอาหารที่เหมาะสมกับโรคที่เป็นอยู่ จึงได้ทำการศึกษาวิจัยงาดำ ซึ่งพบว่า ในเมล็ดงาดำมีสาร ′เซซามิน′ ที่ช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็ง และช่วยฟื้นฟูสภาพเซลล์ที่เสื่อมไปให้กลับมาทำงานเป็นปกติได้
นอกจากนี้ยังพบว่าสารเซซามินช่วยทำให้แคลเซียมประสานกับกระดูกเพิ่มมากขึ้น สามารถป้องกันโรคข้อเข่าเสื่อม โรคกระดูกพรุน และยังสามารถปกป้องเซลล์ประสาทที่เสื่อมสภาพให้สามารถกลับมาทำงานเป็นปกติได้ สรุปได้ว่า สารสกัดเซซามินจากงาดำ สามารถต้านเซลล์ต่างๆที่เสื่อมสภาพแล้ว ยังสามารถฟื้นฟูและป้องกันเซลล์ที่ถูกทำลายลงได้
ศ.ดร.ปรัชญา กล่าวว่า จากที่เริ่มทำการศึกษาวิจัยตั้งแต่ปี 2553 โดยได้พัฒนาสารเซซามินจากงาดำออกมาในรูปแบบแคปซูลอาหารเสริม และให้ผู้ป่วยโรคสมอง กับโรคมะเร็งรับประทาน ควบคู่ไปกับการรับประทานยาที่แพทย์สั่ง ผ่านไป 6 เดือน พบว่า ผู้ป่วยที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นเจ้าชายนิทรา พูดไม่ได้ขยับตัวไม่ได้ กลับมาพูดได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยคีโม มีอาการผมร่วงหมด เมื่อรับประทานสารเซซามินจากแคปซูลควบคู่กับยาที่รับประทานตามปกติ พบว่าผมได้งอกขึ้นตามปกติ และผู้ป่วยอีกหลายรายที่ได้ทำการทดสอบด้วยวิธีการให้รับประทานสารเซซามินจากงาดำแคปซูลนี้ควบคู่ไปกับยาที่รักษา กลับได้ผลเป็นปกติถึงร้อยละ 90
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันคณะแพทยศาสตร์ มช. ได้ทำการจดสิทธิบัตรไปแล้ว 3 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย สหรัฐอเมริกา และมาเลเซีย ในอนาคตพร้อมก้าวสู่เชิงพาณิชย์ ขณะนี้สามารถสร้างรายได้ตอบแทน มช.กว่า 7 ล้านบาท และในคาดว่าใน 5 ปีข้างหน้า จะสร้างรายได้เข้ามหาวิทยาลัยกว่า 30 ล้านบาท โดยเร่งสนับสนุนทุนวิจัย ที่จะสามารถนำนวัตกรรมงานวิจัย ไปผลิตและสร้างรายได้ตอบแทนให้กับชุมชนและมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นในอนาคต
ศ.ดร.ปรัชญา กล่าวอีกว่า ผลิตภัณฑ์ตัวนี้ไม่ใช่สมุนไพร แต่ทำจากอาหาร ที่ผ่านมาเรายังไม่เคยได้ยินข่าวว่าคนกินรำข้าวงาข้าวแล้วเสียชีวิต เพราะฉะนั้นแทบจะไม่มีผลข้างเคียงใดๆ ต่างจากการรับประทานสมุนไพรที่กินต่อเนื่องนานๆไม่ได้ เราอยากจะทำให้ขยายออกต่างประเทศมากขึ้น กัมพูชา เมียนมาร์ สปป.ลาว มาเลเซีย ฯลฯ ขยายไปถึงยุโรป เอเซีย และตะวันออกกลาง ซึ่งจะช่วยส่งผลดีไปถึงชาวนาผู้ผลิตแหล่งวัตถุดิบทางเกษตรกรรมได้ด้วย
“การใช้เวลาเข้าไปเสริมสร้างขึ้นอยู่กับตัวบุคคลว่าอาการเป็นอย่างไร ป่วยเป็นโรคอะไร และการที่ร่างกายของแต่ละคนจะตอบสนอง ที่คนนำไปใช้แล้วเกิดประโยชน์ได้อย่างชัดเจนมาก คือโรคข้อเสื่อมข้ออักเสบ มีงานศึกษาทางวิทยาศาสตร์ยืนยันชัดเจนว่าสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลเบาหวานได้แต่ต้องใช้เวลาบ้าง แผลเบาหวานที่รักษาไม่ได้จะค่อยๆแห้งและดีขึ้น ในผู้ป่วยมะเร็ง โรคสมอง พาร์คินสัน ผู้ป่วยที่หลอดเลือดอุดตันแตกจะค่อยฟื้นตัว”
ที่มา: http://www.matichon.co.th/news/402562