เกือบจะทุกคนที่ไปร้านขายยา เภสัชกรประจำร้านก็จะถามว่า ต้องการยาอะไร? คนที่ไปซื้อยาก็มักจะตอบเป็นคำตอบแรกว่า ต้องการยาแก้อักเสบ แม้แต่หมอเอง เมื่อจ่ายยาให้คนไข้ บางครั้งก็เขียนคำว่า แก้อักเสบ
แล้วการอักเสบมันคืออะไร ?
การอักเสบ หรือ inflammation เป็นขบวนการที่ร่างกายเรามีปฏิกิริยาตอบสนอง ต่อขบวนการที่ผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายในระดับโมเลกุล การอักเสบจะเริ่มต้นจาก ต้นตอของการอักเสบ ที่เรียกได้ว่าเป็นตัวกระตุ้น หรือ inducer จากนั้นก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมี เป็นวิถีของการอักเสบ หรือ inflammation cascade โดยมีเอ็นไซม์ ย่อยไขมันส่วนที่อยู่บนผิวเซลล์ ทำให้เกิดเป็นการเปลี่ยนแปลงระดับโมเลกุล ที่มีการกระจายตัวออกไปเป็นสายธารหรือ pathway ซึ่งต้องอาศัยเอ็นไซม์ในขั้นตอนต่าง ๆ เช่น delta-5-desaturase, COX1, และ COX2 เป็นต้น
ในที่สุดก็ได้เป็นสารสื่ออักเสบ ทำให้มีการเคลื่อนย้ายเซลล์เม็ดเลือดขาวมาบริเวณที่มีการอักเสบมากขึ้น ทำให้มีการไหลออกของน้ำในเนื้อเยื่อมากขึ้น ทำให้เกิดการบวม อุณหภูมิเพิ่มมากขึ้น บริเวณที่มีการอักเสบภายนอกร่างกาย ก็จะเห็นว่ามันมีสีแดง ๆ ดังนั้น การอักเสบก็จะมีลักษณะ ปวด บวม แดง ร้อน
ในระดับของเซลล์ เม็ดเลือดขาวบริเวณที่มีการอักเสบ จะสร้างและปล่อยสารสื่ออักเสบออกมามากมาย เพื่อเรียกเม็ดเลือดขาวให้มาบริเวณนั้นมากขึ้น เพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอม และเชื้อโรคต่าง ๆ สารสื่ออักเสบที่สร้างและปลดปล่อยออกมา นั้น ที่สำคัญ ๆ คือสารพวก cytokines ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Interleukin-1 Beta และ Tumor Necrosis Factor – alpha (TNF – alpha) ถ้าเกิดขึ้นที่ปอด ก็จะทำให้เกิดน้ำท่วมปอดได้ และเมื่อมีเม็ดเลือดขาวมาบริเวณที่มีการอักเสบ เยอะๆ ทำให้มีการสร้างและปล่อยเอ็นไซม์ที่ไปทำลายเชื้อโรคและเนื้อเยื่อใกล้เคียงได้ รวมทั้งทำให้เกิดอนุมูลอิสระได้อย่างมากมาย
ผลต่อมาคือการแตกสลายของเนื้อเยื่อ เมื่อมีการอักเสบเกิดขึ้นภายนอกร่างกายเรา เราสามารถสังเกต และรักษา ตลอด จนดูแลได้ง่าย เพราะสามารถสังเกตเห็นได้ทันที รักษาได้ทันที ทราบทันทีว่ามีอาการดีขึ้นหรือไม่
แต่ถ้ามีการอักเสบที่มากเกินไปเกิดขึ้นในร่างกายล่ะ จะเป็นอย่างไร ?
ซึ่งก็พบว่า ถ้ามีการอักเสบเกิดขึ้นแบบเรื้อรังภายในร่างกายเรา จะทำให้เกิดโรคเรื้อรัง ต่างๆ เช่น โรคข้อกระดูกอักเสบ ข้อเสื่อม เบาหวาน มะเร็ง อัลไซเมอร์ พาร์กินสัน กระดูกพรุน โรคกระเพาะ และอื่นๆ อีกมากมาย
จากการศึกษาวิจัย พบว่า มีสารสมุนไพรไทยหลายชนิดมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ เช่น งานวิจัยที่ได้ทำอยู่ที่หน่วยวิจัยที่มีความเป็นเลิศทางด้านวิศวกรรมเนื้อเยื่อและเซลล์ต้นกำเนิด โดย รศ. ดร. ปรัชญา คงทวีเลิศ ได้ค้นพบว่าสารสกัดจากงา คือ เซซามิน (Sesamin) มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ที่สามารถต้านการอักเสบ โดยไปยับยั้งที่เอ็นไซม์ delta-5-desaturase, ยับยั้งการแสดงออกของยีน IL-1 Beta และ TNF-alpha ที่เป็นสาเหตุของ cytokine storm กระตุ้นการสร้าง Interleukin-2 และ Interferon-gamma (IFN Gamma) และเพิ่มการสร้างเนื้อเยื่อต่างๆ เช่น การสังเคราะห์เส้นใยคอลลาเจน และ กรด ไฮยาลูโรนิกแอซิก รวมทั้ง Bone Mophorgentic Protein-2 (BMP-2) เป็นต้น
ดังนี้ จึงทำให้งา และสารสกัดจากงา มีคุณสมบัติเป็นอาหารเสริม ดูแลสุขภาพ ต้านอนุมูลอิสระ กระตุ้นภูมิต้านทานโรค ลดการอักเสบ ได้เป็นอย่างดี