รู้ทันเมอร์ส-คอฟ ไวรัสที่ร้ายกว่าอีโบล่า ไม่มียารักษา!!!

images (9)

ในรอบหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายคนก็คงจะได้ยินชื่อโรคแปลก ๆ อยู่โรคหนึ่ง นั่นคือ “โรค MERS-CoV” (เมอร์ส-คอฟ) โรคที่หลายคนก็คงจะสงสัยว่าเป็นโรคอะไร มีอันตรายอย่างไรต่อคน และเราสามารถหลีกเลี่ยงการรับเชื้อได้อย่างไรกันบ้าง

โรค MERS-CoV (เมอร์ส-คอฟ)

ย่อมาจากคำว่า Middle East Respiratory Syndrome หรือกลุ่มอาการโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง เกิดจากการติดเชื้อในกลุ่ม โคโรน่าไวรัส (Coronavirus: CoV) ทำให้ชื่อย่อของเชื้อโรคนี้ในภาษาอังกฤษ จึงใช้คำว่า MERS-CoV นั่นเอง

โคโรน่าไวรัสเป็น RNA ไวรัส ที่สามารถก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินอาหาร (ซึ่งส่วนมากแล้วอาการน้อยและบางครั้งอาจรุนแรงมาก) หากยังจำกันได้ เมื่อปี ค.ศ. 2002-2003 ขณะนั้นมีโรคซาร์ส โคโรน่าไวรัส (SARS Coronavirus) เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน

แต่การติดเชื้อโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ล่าสุด พบว่ามีการรายงานครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2555 ที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย ต่อมาเชื้อได้แพร่กระจายไปยังประเทศใกล้เคียง ได้แก่ การ์ตา จอร์แดน ฝรั่งเศส อิตาลี และ ตูนิเซีย เดิมทีเราเรียกไวรัสชนิดนี้ว่า “โนเวล โคโรน่า ไวรัส: Novel Corona virus) แต่ในปัจจุบัน องค์การอนามัยโลกได้ใช้ชื่อเรียกใหม่ว่า Middle East Respiratory Syndrome Coronavirus หรือ โรค MERS-CoV (เมอร์ส-คอฟ) ที่สามารถพบการติดเชื้อได้ในทุกกลุ่มอายุ ซึ่งส่วนใหญ่มักพบในผู้ใหญ่ และมีอัตราการเสียชีวิตราวร้อยละ30 (ข้อมูล ณ วันที่ 24 เมษายน 2557) ความสำคัญของการพบโรคนี้ก็คือ นอกจากอัตราการเสียชีวิตที่สูงแล้ว ยังพบการแพร่กระจายจากคนสู่คน โดยเฉพาะบุคคลที่อาศัยภายในบ้านเดียวกันนั่นเอง

อาการที่สังเกตได้คือ มักพบได้ตั้งแต่ไม่มีอาการจนถึงมีอาการรุนแรงแล้ว ซึ่งผู้ป่วยมักมีไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส มีอาการไอหอบ หายใจลำบาก ในรายที่อาการรุนแรงพบว่าผู้ป่วยจะมีอาการแย่ลงอย่างรวดเร็วภายใน 1 สัปดาห์ ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจมีลักษณะของกลุ่มอาการในระบบทางเดินหายใจล้มเหลวเฉียบพลันอย่างรุนแรง คือมีอาการหอบเหนื่อยตามความรุนแรงของภาวะขาดออกซิเจน

แนวทางการรักษา เนื่องด้วยโรคนี้เป็นโรคอุบัติใหม่ ทำให้ข้อมูลการใช้ยาต้านไวรัสค่อนข้างจำกัด และยังไม่มียาต้านไวรัสจำเพาะต่อเชื้อนี้ในการรักษา จึงทำได้เพียงให้การรักษาตามอาการและการรักษาแบบประคับประคอง จนกว่าการอักเสบในระบบทางเดินหายใจจะลดน้อยลงจนหายเป็นปกติดี

สำหรับการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ ถือว่ามีความสำคัญมากที่สุด เพราะเรายังไม่มียาที่ใช้ทำลายเชื้อนี้ได้ ดังนั้น เมื่อมีอาการไข้สูง ไอ หอบ หายใจเร็ว ก็ควรให้ผู้ป่วยสวมผ้าปิดปาก-จมูก และมาพบแพทย์พร้อมแจ้งเจ้าหน้าที่หากมีประวัติเดินทางไปประเทศที่มีการระบาดของเชื้อ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย การ์ตา จอร์แดน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อังกฤษ ฝรั่งเศส ตูนิเซีย เยอรมนี อิตาลี โอมาน คูเวต มาเลเซีย กรีซ และฟิลิปปินส์ ส่วนผู้ที่อยู่ใกล้ชิด ก็ให้สวมหน้ากากอนามัย และหมั่นรักษาความสะอาดมือ ทั้งผู้ป่วยเองและคนรอบข้างกันด้วย

ที่มา : ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์กำธร มาลาธรรม รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี และอาจารย์ประจำภาควิชา อายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

—–

MERS Cov_infographic2

รู้จักไวรัสมรณะ เมอร์ส ที่มีความน่ากลัวกว่าไวรัสอีโบลา หากเชื้อเข้าปอดแล้วโอกาสเสียชีวิตมีสูงถึง 36% แถมทนต่อสภาพแวดล้อม สามารถติดต่อได้ทั้งผ่านทางเดินหายใจ-สารคัดหลั่ง หากแพร่เข้าปอดจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 4 วัน…

หลังจากที่ทั่วโลกต้องตื่นตระหนกหลังพบ ไวรัสมรณะ ‘เมอร์ส’ (mers virus Middle East Respiratory Syndrome coronavirus: MERS) คือ โคโรนาไวรัส ที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ที่กลับมาระบาดในเอเชียอีกครั้ง เพราะไวรัสตัวนี้ติดง่ายกว่าเชื้ออีโบลา (Ebola) ถ้าเชื้อแพร่กระจายเข้าปอดแล้วโอกาสเสียชีวิตมีสูงถึง 36%

ท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนชื้นช่วงต้นฤดูฝน ในพื้นที่เขตเส้นศูนย์สูตรแถบเอเชีย ทำให้อุณหภูมิสูงเกิน 40 องศาเซลเซียสในหลายประเทศ แต่ความร้อนก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการระบาดของเชื้อไวรัสมรณะเมอร์ส

ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อไวรัสตัวนี้ที่ประเทศเกาหลีใต้รวม 30 คน หลังจากเดินทางกลับจากตะวันออกกลาง จากการตรวจสอบของทีมข่าวไทยรัฐ พบว่า ไวรัสเมอร์สมีความน่ากลัวกว่าไวรัสอีโบลา เพราะสามารถทนต่อสภาพอากาศร้อนสูง ระหว่างอุณหภูมิ 25-30 องศาเซลเซียส ในสภาพแวดล้อมนานถึง 2 วัน เพราะมันมีถิ่นกำเนิดในแถบทะเลทรายที่ร้อนเกือบ 50 องศาเซลเซียส

หากผู้ป่วยที่ติดเชื้อเกิดจามขณะมีผู้คนเดินผ่านในรัศมี 1 เมตร ผู้นั้นสามารถติดเชื้อไวรัสนี้ได้อย่างง่ายดาย จากละอองน้ำลาย น้ำมูก และเสมหะของผู้ติดเชื้อ ร่างกายและอุณหภูมิของมนุษย์เป็นที่อยู่อาศัยชั้นเลิศ ในการเพิ่มจำนวนไวรัส หลังเข้าร่างกายผ่านระบบทางเดินหายใจ หรือสารคัดหลั่ง เช่น เลือด น้ำเหลือง น้ำลาย หรืออสุจิ มันจะเข้าไปฝังตัวในเซลล์ของมนุษย์ทันที และใช้องค์ประกอบจากเซลล์มนุษย์ ที่มีอุณหภูมิเหมาะสมที่ 37 องศาเซลเซียส เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว ให้กลายเป็นไวรัสเมอร์สตัวใหม่ และเซลล์มนุษย์ที่ติดเชื้อก็จะตายลง ทำให้ระบบการทำงานของร่างกายล้มเหลว โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ ปอด และไต

ผู้รับเชื้อจะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ และทรุดลงอย่างรวดเร็วเมื่อไวรัสลงปอด จะมีชีวิตอยู่ไม่เกิน 4 วัน จึงเป็นเรื่องน่าห่วงกับพี่น้องมุสลิมที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ช่วงหลังกลางเดือนสิงหาคมนี้ที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย เพราะไวรัสตัวนี้มีถิ่นกำเนิดในดินแดนอาหรับและยังไม่มีวัคซีนป้องกัน

ล่าสุดมีผู้ติดเชื้อไวรัสนี้ทั่วโลกกว่า 1,100 คน เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 400 คน ขณะที่ ยอดผู้ติดเชื้อในเกาหลีใต้จากไวรัสชนิดนี้เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่องค์การอนามัยโลก ยังไม่มีการประกาศห้ามเดินทางไปยัง ประเทศที่พบผู้ป่วยแต่อย่างใด

เช่นเดียวกับ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ออกประกาศเตือนคนไทยในเกาหลีใต้ให้ระมัดระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเมอร์สในเกาหลีใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อาศัยในเขตเมืองแดจอน และพื้นที่ใกล้เคียงให้เพิ่มความระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่สาธารณะ ซึ่งอาจเป็นแหล่งติดเชื้อได้ รวมถึงหมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ และใช้หน้ากากอนามัยปิดปาก และจมูก เมื่อมีอาการไอ หรือ จาม แต่หากมีอาการไม่สบายหรือเป็นไข้ ควรรีบพบแพทย์ทันที

ด้วยความห่วงใย จากทีมงานบ้านน้ำใจ
www.baannumjai.com
บ้านน้ำใจ รักษ์สุขภาพ

Comments are closed.