เป้าหมายใหม่เพื่อโจมตีมะเร็ง

ดร.ศิวนนท์ จิรวัฒโนทัย

ดร.ศิวนนท์ จิรวัฒโนทัย

การรักษามะเร็งแบบ “คีโม” ยังคงเป็นวิธีรักษาที่คุ้นชินสำหรับทุกวันนี้ แต่ทิศทางการรักษาในอนาคตคือการมุ่งโจมตีที่เซลล์มะเร็งโดยไม่ส่งผลข้างเคียงต่อเซลล์ปกติ เพื่อรักษาชีวิตผู้ป่วยให้ยืนยาว เพราะหลายครั้งผู้ป่วยไม่ได้เสียชีวิตเพราะเนื้อร้าย แต่จากไปเพราะตัวยาที่ทำลายเซลล์ดีๆ ในร่างกาย

ก่อนหน้านี้โลกให้ความสนใจในการรักษามะเร็งแบบเจาะจง (Targeted Therapy) โดยมุ่งโจมตีโปรตีนที่เรียกว่า cyclin-CDK4 ซึ่งเป็นโปรตีนที่พบว่ามีมากผิดปกติในเซลล์มะเร็ง แต่เมื่อครั้งยังเป็นนักวิจัยประจำสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ดร.ศิวนนท์ จิรวัฒโนทัย ได้ศึกษาวิจัยและพบโปรตีนที่น่าสนใจอีกตัวชื่อ cyclin D1 และน่าจะเป็นเป้าหมายใหม่ในการกำจัดเซลล์มะเร็ง

หนึ่งในปัญหาของการรักษามะเร็งคือการดื้อยา ซึ่งแม้จะยับยั้งโปรตีน cyclin-CDK4ได้แล้วแต่พบว่าไม่ได้หยุดการดื้อยา ซึ่งจากการศึกษาของนักวิจัยไทย พบว่า นอกจากโปรตีน cyclin D1 ทำให้เซลล์มะเร็งแบ่งตัวแบบผิดปกติแล้ว ยังทำให้มะเร็งดื้อยาด้วย จึงเล็งว่าโปรตีนตัวนี้อาจเป็นเป้าหมายในการรักษามะเร็งแบบเจาะจง

ดร.ศิวนนท์ สนใจโปรตีนดังกล่าวเพราะพบว่าในคนที่เป็นมะเร็งมีโปรตีนชนิดนี้ผิดปกติทั้งแง่ปริมาณและการทำงาน และยังพบว่าผู้ป่วยมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งลำไส้ และมะเร็งเยื่อบุต่างๆ มีโปรตีนชนิดนี้ในระดับที่ผิดปกติ

การค้นพบดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ลงวารสารเนเจอร์รีวิวแคนเซอร์ (Nature Review Cancer) เมื่อปี 2011 และหลังจากนั้นบริษัทยาและนักวิจัยจากทั่วโลกเริ่มให้ความสนใจศึกษาโปรตีนดังกล่าว โดยบางห้องปฏิบัติการในต่างประเทศพบว่า ในการทดลองระดับสัตว์พบว่าเมื่อทำลายโปรตีน cyclin D1 แล้ว เซลล์มะเร็งตาย แต่เซลล์ปกติของสัตว์ทดลองไม่เป็นไร

ทั้งนี้ จากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์พบว่า โปรตีน cyclin D1 ช่วยในการเติบโตจากเด็กเป็นผู้ใหญ่ และยังพบโปรตีนนี้ในอวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย เช่น เรตินาดวงตา สมอง และเต้านม เป็นต้น

ดร.ศิวนนท์กล่าวว่า หลังจากการค้นพบครั้งนั้นก็ได้ให้ความรู้แก่คนทั่วไปว่า โปรตีน cyclin D1 เป็นเป้าหมายในการรักษามะเร็งที่ดีจริง ซึ่งการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญ และสร้างกระแสให้บริษัทยาหันมามุ่งโจมตีโปรตีนชนิดนี้ และเขายังพบสารชีวภาพที่ออกฤทธิ์ยับยั้งโปรตีนนี้ ซึ่งคาดว่าต้องผ่านการทดลองอีกหลายขั้นตอนและต้องใช้เวลาอีก 10 ปี จึงจะได้เห็นยารักษามะเร็งที่มุ่งโจมตีโปรตีนนี้ ทว่า ในการวิจัยยารักษามะเร็งในปัจจุบันในหลายแห่งยังคงมุ่งเน้นที่โปรตีน cyclin-CDK4 อยู่เนื่องจากง่ายกว่า

สำหรับการรักษาแบบคีโมนั้น ดร.ศิวนนท์กล่าวว่า เป็นการวิธีรักษาแบบโบราณ ที่เปรียบเหมือนการให้ยาพิษแก่คนไข้ เพื่อเข้าไปฆ่าเซลล์มะเร็ง เนื่องจากเมื่อก่อนเราไม่ทราบว่ามะเร็งคืออะไร และคิดว่าเป็นเชื้อโรคที่ต้องทำลาย เราจึงทำอะไรเลยเถิดจนทำร้ายตัวเอง ซึ่งเมื่อราวปี 1950 มียารักษามะเร็งตัวแรกคือ “ไนโตรเจนมัสตาร์ด” ซึ่งเป็นยาพิษที่พบว่าทำให้เซลล์มะเร็งตาย และเป็นต้นกำเนิดของคีโม หรือ คีโมเทอราปี (Chemotherapy)

“จนกระทั่งเมื่อปี 1970 เริ่มมีวิทยาการตัดต่อดีเอ็นเอที่เรียกว่า “ชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล” (Molecular Biology) ทำให้เรารู้ว่าอะไรกลายพันธุ์ และไม่กลายพันธุ์ และเป็นจุดเริ่มต้นของการรักษาแบบเฉพาะเจาะจง ซึ่งในผู้ป่วย 3 คน อาจมีการกลายพันธุ์ต่างกัน การให้ยาก็ต่างกัน” ดร.ศิวนนท์ซึ่งปัจจุบันประจำอยู่ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว

สำหรับงานวิจัยซึ่งได้รับการตีพิมพ์ลงเนเจอร์รีวิวแคนเซอร์นั้นเป็นงานวิจัยที่ ดร.ศิวานนท์ ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันมะเร็งดานา-ฟาเบอร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐฯ

ดร.ศิวนนท์ จิรวัฒโนทัย และทีมวิจัยที่ฮาวาร์ด

ดร.ศิวนนท์ จิรวัฒโนทัย และทีมวิจัยที่ฮาวาร์ด

การทดลองในหนู
การทดลองในหนู

ที่มา:  ผู้จัดการ online

Comments are closed.